ปัจจุบันโรคมะเร็งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประชากรโลก เป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ใน 3 รองจากอุบัติเหตุ และโรคหัวใจ ในปี 2548 มีคนทั่วโลกเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปีละ 7 ล้านคน และมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 11 ล้านคน องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าจะเพิ่มเป็น16 ล้านคน ในปี 2563 และเพิ่มเป็น 24 ล้านคนในปี 2593 (http://www.moph.go.th/ops/iprg/include/admin_hotnew/show_hotnew.php?idHot_new=1880) ในประเทศที่พัฒนา และกำลังพัฒนา พบผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งมีอัตราการตายสูงถึงร้อยละ 50 และมากกว่าร้อยละ 80 ตามลำดับ (WHO, 1993) สำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนา ได้ประสบปัญหากับการขยายตัวของโรคมะเร็งเช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก จากสถิติโรคมะเร็งมีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นทุกปี พบว่า ในปี 2531 จำนวน 18,284 ราย และเพิ่มขึ้นเป็น 45,834 ราย ในปี 2545 (สำนักนโยบายและศูนย์, 2546) และจากสถิติทะเบียนโรคมะเร็งในประชากร (population-based cancer registry) เขตพื้นที่ภาคใต้ (พ.ศ. 2541-2543) พบมะเร็งช่องปากและคอหอย ร้อยละ 13.8 มะเร็งปอด ร้อยละ 13.4 มะเร็งตับ ร้อยละ 7 พบมากในผู้ป่วยเพศชาย มะเร็งปากมดลูก ร้อยละ 20.1 มะเร็งเต้านม ร้อยละ 16.1 และมะเร็งช่องปากและคอหอย ร้อยละ 3.4 พบมากในผู้ป่วยหญิง (อภิรดี ลดาวรรธ์, 2547) ส่วนในผู้ป่วยเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี พบมะเร็งเม็ดเลือดขาวร้อยละ 0.95 ของผู้ป่วยทั้งหมด (Sriplung, 2003) ทั้งนี้จากข้อมูลสถิติทะเบียนโรคมะเร็งของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นสถาบันผลิตบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์สาธารณสุขแขนงต่างๆ และให้บริการทางด้านสาธารณสุขรองรับประชาชนส่วนใหญ่ในภาคใต้ พบว่า ผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี ในปี 2549 จากจำนวนผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทั้งหมด 43,355 ราย โดย4,184 ราย (9.6%) เป็นผู้ป่วยมะเร็ง เป็นผู้ชาย 2,070 ราย (49.3%) และในปี 2550 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทั้งหมด 44,570 ราย โดย4,584 ราย (10.3%) เป็นผู้ป่วยมะเร็ง เป็นผู้ชาย 2,228 ราย (48.6%) (HOSPITAL-BASED CANCER REGISTRY, 2005 และ HOSPITAL-BASED CANCER REGISTRY, 2006) จากข้อมูลทางสถิติจะเห็นได้ว่าโรคมะเร็งเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย และอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย เนื่องจากมะเร็งเป็นเซลล์ที่มีการเจริญเติบโตผิดปกติ ไม่สามารถควบคุมการเจริญเติบโต และการแพร่กระจายของเซลล์ได้ ทำให้เกิดการทำลายเนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆในร่างกาย

          การรักษาโรคมะเร็งมีหลายวิธี ได้แก่การรักษามะเร็งโดยวิธีทางศัลยกรรม (ผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออก) รังสีรักษา (ฉายแสงบริเวณที่มีเซลล์มะเร็งอยู่เป็นการรักษาแบบเฉพาะที่เช่นเดียวกับวิธีของศัลยกรรม) เคมีบำบัด (การรักษาหรือการทำลายเซลล์มะเร็งทั้งที่ต้นตอและที่กระจาย ไปตามทางเดินน้ำเหลือง กระแสเลือดหรืออวัยวะอื่นของร่างกาย เป็นการรักษามะเร็ง แบบทั้งตัวของผู้ป่วยมะเร็ง โดยการรับประทานยาที่มีความสามารถในการฆ่า หรือทำลายเซลล์มะเร็ง ฉีดยาทางหลอดเลือดดำหรือแดง เป็นต้น) การรักษาโดยการใช้ฮอร์โมน เนื่องจากมะเร็งบางชนิดมีความไวต่อการรักษาด้วยฮอร์โมน และการรักษาโดยการเพิ่ม ภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย เพื่อที่จะได้กำจัดเซลล์มะเร็งให้หมดไปจากร่างกาย เนื่องจากการรักษาโดยการเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายนี้ยังอยู่ ระหว่างการศึกษาอยู่ต้องการข้อมูลอีกมากเพื่อยืนยันว่า ได้ผลในการรักษามะเร็ง การเลือกใช้วิธีการรักษาจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง ระยะความรุนแรงของโรค สภาพร่างกายของผู้ป่วย ความเห็นของแพทย์ และการตัดสินใจของผู้ป่วย ความสำเร็จของการรักษาโรคมะเร็งขึ้นอยู่กับ การเลือกใช้วิธีการรักษา แนวทางการป้องกัน และควบคุมโรคมะเร็ง การให้ยาเคมีบำบัดเสริมหรือร่วมกับการรักษาด้วยวิธีอื่นมีผลช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้อย่างมีนัยสำคัญในผู้ป่วยมะเร็งระยะต้นหลายชนิดจึงได้รับการยอมรับให้เป็นการรักษามาตรฐานในปัจจุบัน แต่ผู้ป่วยโรคมะเร็งส่วนใหญ่จะมาพบแพทย์เมื่อโรคอยู่ในระยะลุกลาม หรืออยู่ในระยะที่ไม่สามารถบำบัดรักษาด้วยวิธีของศัลยกรรมและรังสีรักษาได้ เพราะเซลล์มะเร็งได้มีการกระจายตัวไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายแล้ว ดังนั้นการรักษาหลักที่สำคัญในผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะลุกลามหรือแพร่กระจายนี้จึงได้แก่ การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ซึ่งมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยเห็นได้ชัดจากผลการศึกษาวิจัยทางคลินิกในมะเร็งชนิดต่างๆ รวมถึงความก้าวหน้าในการรักษาด้วยยากลุ่ม molecularly targeted therapy ซึ่งมีประสิทธิภาพในการยับยั้งเซลล์มะเร็งระดับโมเลกุลอย่างเฉพาะเจาะจง

          หน่วยมะเร็งวิทยา สาขาวิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ตระหนักและให้ความสำคัญด้านการศึกษาวิจัย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาวิธีการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ในปีพ.ศ. 2546 โดยได้ทำหน้าที่ทั้งด้านการให้บริการแก่ผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษา การรับส่งต่อผู้ป่วยมะเร็งจากโรงพยาบาลใกล้เคียง ด้านการศึกษาวิจัย และด้านการเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์ แพทย์ใช้ทุน แพทย์ประจำบ้าน และแพทย์ประจำบ้านต่อยอด ในส่วนของงานด้านบริการ พบว่า ตั้งแต่ปี 2546 จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2551 มีสถิติการเข้ารับการรักษาของผู้ป่วยใหม่โรคมะเร็งในหน่วยฯ จำนวน 1,844 ราย ทางด้านการศึกษาวิจัยนั้น แพทย์และบุคลากรประจำหน่วยมะเร็งวิทยา ได้มีผลงานวิจัย ทั้งการวิจัยทางคลินิก การวิจัยทางห้องปฏิบัติการและ translational research อย่างต่อเนื่อง โดยการวิจัยต่างๆดังกล่าวมีทั้งการวิจัยในสถาบันเดียวที่ริเริ่มโดยบุคลากรของหน่วย และการวิจัยที่เป็นการร่วมมือระดับนานาชาติหลายสถาบัน และในอนาคตทางหน่วยมะเร็งวิทยาจะมุ่งเน้นการศึกษาวิจัยในโรคมะเร็งที่พบบ่อยและเป็นปัญหาของประเทศไทยโดยเฉพาะในภาคใต้ ได้แก่ มะเร็งหลอดอาหารและทางเดินอาหาร มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม เป็นต้น โดยจะยังคงพัฒนาคุณภาพของการศึกษาวิจัยให้ครอบคลุมทั้งการวิจัยทางคลินิก การวิจัยทางห้องปฏิบัติการและ translational research อย่างต่อเนื่องต่อไป

          อย่างไรก็ตามในการรักษาโรคมะเร็ง ผู้ป่วยต้องเผชิญกับความไม่สบาย และอาการข้างเคียงต่างๆ ทั้งจากตัวโรคเอง จากการให้ยาเคมีบำบัด หรือการรักษาโดยวิธีอื่นๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งตัวผู้ป่วยเอง และต่อครอบครัว ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม และจิตวิญญาณ หรือความเป็น “องค์รวม” ของผู้ป่วย ดังนั้นการใช้แนวทางการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม จึงถูกนำมาประยุกต์ใช้เพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยในด้านต่างๆที่เกิดขึ้น การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม เป็นแนวคิดสุขภาพที่เน้นการดูแลสุขภาพทั้งชีวิต และองค์ประกอบของสุขภาพ ประกอบด้วย ร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ ให้มีความสมดุลและเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน หรือบูรณาการเป็น “องค์รวม” ทั้งหมด (ประเวศ วะสี, 2544) ให้ทุกสิ่งมีความสัมพันธ์กันอย่างสมบูรณ์ แนวคิดการดูแลสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแบบองค์รวมนั้น ควรให้แพทย์ หรือผู้ให้การรักษามีสัมพันธภาพกับผู้ป่วยแบบครบทุกด้าน ให้ผู้ป่วยควบคุมตนเองในด้านกาย จิตใจ รวมถึงการเชื่อมโยงไปสู่สิ่งแวดล้อมนับตั้งแต่ ครอบครัว ชุมชน และสังคม การดูแลสุขภาพแบบองค์รวมนี้ควรเกิดขึ้นภายใต้สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ซึ่งเป็นบรรยากาศความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์ หรือผู้ให้การรักษา และผู้ป่วย รวมถึงครอบครัวผู้ป่วย สามารถปฏิบัติร่วมกันได้ ทางหน่วยมะเร็งวิทยาได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของแนวคิด การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม เพื่อนำมาใช้ดูแลผู้ป่วยและครอบครัวที่มารับบริการยังหน่วยมะเร็งวิทยาด้วย ดังนั้นการจัดตั้ง “ศูนย์องค์รวมเพื่อการศึกษาและบำบัดโรคมะเร็ง” จึงมีความสำคัญในการพัฒนาและขยายการบริการด้านการดูแลสุขภาพให้แก่ผู้ป่วยโรคมะเร็ง และครอบครัวแบบองค์รวมให้มีประสิทธิภาพและสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น รวมทั้งการพัฒนาทางด้านงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคมะเร็งให้เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานต่อไป